คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : ปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย (Frequent urination)
ปัสสาวะบ่อย/ ฉี่บ่อย (Frequent urination) เป็นอาการไม่ใช่โรค เป็นอาการปวดปัสสาวะที่ทำให้ต้องรีบเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าที่เคยเป็น เกิดได้ทั้งในเวลากลางวันและ/หรือกลางคืน ทั้งนี้ ปัสสาวะบ่อยไม่ขึ้นกับปริมาณน้ำปัสสาวะที่มากเท่านั้น แต่เป็นได้ทั้งจาก ปริมาณปัสสาวะปกติ น้อยกว่าปกติ หรือมากกว่าปกติ ซึ่งทางการแพทย์การปัสสาวะปกติในผู้ใหญ่จะประมาณไม่เกิน 8 ครั้งในช่วงกลางวัน และไม่ควรเกิน 1 ครั้งในช่วงกลางคืน ซึ่งถ้าบ่อยกว่านี้ถือว่าเป็น ‘ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ’ พบบ่อยในผู้สูงอายุทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยเพศหญิงมักเกิดในวัยหมดประจำเดือน ส่วนเพศชายมักเกิดจากมีต่อมลูกหมากโต
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้บ่อยจากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำและมักเป็นโรคที่ก่อการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อของปลายประสาทต่างๆ รวมถึงของกระเพาะปัสสาวะ จึงส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากผิดปกติ
- ภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิง เพราะการขาดฮอร์โมนเพศ จะส่งผลให้เนื้อเยื่อต่างๆ รวมถึงกระเพาะปัสสาวะขาดการยืดหยุ่น แห้ง และติดเชื้อได้ง่าย จึงเป็นสาเหตุให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง มีการบีบตัวผิดปกติ และติดเชื้อได้ง่าย
- การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี
- ในผู้ชายสูงอายุจากการมีต่อมลูกหมากโตจึงอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ/ท่อปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะแต่ละครั้งไม่หมด น้ำปัสสาวะที่คั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจะก่อการระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ และเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำปัสสาวะที่กักคั่งในกระเพาะปัสสาวะ จึงกระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะบ่อย
- การตั้งครรภ์ เพราะขนาดครรภ์จะกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจึงเก็บน้ำปัสสาวะได้น้อยลง และยังก่อการระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ จึงเกิดอาการปัสสาวะบ่อย
- ปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด จะกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อยขึ้น จึงเกิดอาการปัสสาวะบ่อย
- ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน/กาเฟอีนในปริมาณมาก เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มประเภทโคลา จะกระตุ้นไตให้ขับปัสสาวะมากขึ้น และบางรายงานพบว่าสารคาเฟอีนกระตุ้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้บีบตัวมากขึ้น จึงกักเก็บปัสสาวะได้น้อยลง ส่งผลให้ปัสสาวะบ่อย
- ดื่มน้ำมาก
- จะไม่รุนแรง เมื่อสาเหตุมาจากความเครียด หรือจากการกินยาขับปัสสาวะ หรือจากภาวะหมดประจำเดือน
- แต่ความรุนแรงจะสูงมากเมื่ออาการเกิดจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
อย่างไรก็ตาม อาการปัสสาวะบ่อยจะมีผลต่อคุณภาพชีวิต เพราะผู้ที่มีอาการนี้มักปฏิเสธที่จะเข้าสังคม หรือมักมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม และอาจรวมถึงในการงานด้วย
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- ไม่ดื่มน้ำมากเกินไป และ ไม่ดื่มน้ำประมาณ 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา เพราะจะเพิ่มปริมาณน้ำปัสสาวะ
- ฝึกการทำงานของเนื้อเยื่อ/กล้ามเนื้อต่างๆ ของอุ้งเชิงกราน (การขมิบช่องคลอด /Kegel exercise) เป็นประจำตั้งแต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ไม่ต้องรอจนมีอาการ
- ดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์